เทคนิคการเล่นลิเก

เทคนิคการเล่นลิเก
การด้น
ลิเกเป็นการแสดงละครที่อาศัยการด้นเป็นปัจจัยหลัก การด้น หมายถึง การผูกเรื่องที่จะแสดงบทเจรจาและบทร้อง ท่ารำ อุปกรณ์การแสดง ในทันทีทันใดโดยมิได้เตรียมตัวมาก่อน แต่ทั้งนี้โต้โผและผู้แสดงมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อนแล้ว ดังนั้น การด้นจึงมักเป็นการนำเรื่อง คำกลอน กระบวนรำ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสม น้อยครั้งที่โต้โผต้องด้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหรือผู้แสดงต้องด้นกลอนร้องใหม่ทั้งเพลง
การด้นเรื่อง
 โต้โผหรือหัวหน้าคณะจะแต่งโครงเรื่องสำหรับการแสดงครั้งนั้น โดยพิจารณาจากจำนวนผู้แสดงที่มาร่วมกันแสดง ตลอดจนความชำนาญเฉพาะบทของผู้แสดงแต่ละคน เรื่องที่แต่งก็นำมาจากเค้าโครงเรื่องเดิมๆที่เคยใช้แสดง แต่ได้ดัดแปลงให้เหมาะกับการแสดงในครั้งนั้นๆ ผู้แสดงมีจำนวนประมาณ ๗ - ๑๕ คน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าผู้ว่าจ้างต้องการลิเกโรงเล็กหรือโรงใหญ่ สำหรับลิเกโรงเล็กมีผู้แสดงน้อย เนื้อ-เรื่องจึงมักเน้นพระเอกนางเอกเพียงคู่เดียว ส่วนลิเกโรงใหญ่มีผู้แสดงมาก จึงมักสร้างตัวละครตั้งแต่รุ่นพ่อต่อมาถึงรุ่นลูก หรือเป็น เรื่องที่มีพระเอกนางเอก ๒ คู่
การด้นบทร้องบทเจรจา
 ผู้แสดงจะแต่งบทเจรจาและบทร้องตลอดการแสดงลิเก สำหรับบทเจรจานั้น ผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมด เพราะเป็นภาษาพูดที่เข้าใจง่าย ไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบท ร้องมีเพลงและรูปแบบคำกลอนของเพลงไทย และเพลงราชนิเกลิงกำกับ ประกอบด้วยคำร้องซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนต้นที่มีหลายคำกลอน และคำลงซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนจบที่มีเพียง ๑คำกลอน การด้นบทร้องมีศิลปะ ๓ ระดับ ระดับสูงคือ ด้นคำร้อง และคำลง* ขึ้นใหม่หมดทั้งเพลง ระดับกลางคือ ด้นคำร้องให้มาสัมผัสกับกลอนของคำลงที่ตนจำมาใช้ ระดับล่างคือ ด้นคำร้องและคำลงที่ลักจำมา หรือจ้างคนเขียนให้มาใช้ทั้งเพลง
การด้นท่ารำ
    ลิเกจะเน้นการร้องทั้งบทกลอนและน้ำเสียง ส่วนการรำเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังนั้น ผู้แสดงจึงไม่เคร่งครัดในการรำให้ถูกต้อง ทั้งๆที่นำแบบแผนมาจากละครรำ การรำของลิเกจึงเป็นการย่างกรายของแขนและขา ส่วนการใช้มือทำท่าทางประกอบคำร้องที่เรียกว่า รำตีบท นั้นตามธรรมเนียมของละครรำมีเพียงไม่กี่ท่านอกเหนือจากนั้น ผู้แสดงจะรำกรีดกรายไปตามที่เห็นงาม การด้นท่ารำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการรำแสดงความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงบางคนในท่ารำชุดที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์เป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว แต่ผู้แสดงลิเกลักจำมาได้ไม่หมด ก็ด้นท่ารำของดั้งเดิมให้เต็มเพลง
การด้นทำอุปกรณ์การแสดง
    การแสดงลิเกมีการสมมติในท้องเรื่องมากมาย และไม่มี การเตรียมอุปกรณ์การแสดงไว้ให้ดูสมจริงนอกจากดาบ ดังนั้น ผู้แสดงจำเป็นต้องหาวัสดุใกล้มือขณะนั้นมาทำเป็นอุปกรณ์ที่ตนต้องการใช้ เช่น เอาผ้าขนหนูมาม้วนเป็นตุ๊กตาแทนทารก เอาผ้าขาวม้ามาคลุมตัวเป็นผี เอาดาบผูกกับฝาหม้อข้าวเป็นพัดวิเศษ เอาผ้าขาวม้าผูกเป็นหัวปล่อยชาย แล้วขี่คร่อมเป็นม้าวิเศษ การคิดทำอุปกรณ์การแสดงอย่างกะทันหันเช่นนี้มุ่งให้ความขบขันเป็นสำคัญ และผู้ชมก็ชอบมาก
การร้องและการ เจรจาของลิเกมีลักษณะเฉพาะ ผู้แสดงจะเปล่งเสียงร้องและเสียงเจรจาเต็มที่ แม้จะมีไมโครโฟนช่วย จึงทำให้เสียงร้องและเจรจาค่อนข้างแหลม นอกจากนั้นยังเน้นเสียงที่ขึ้นนาสิกคือมีกระแสเสียงกระทบโพรงจมูก เพื่อให้มีเสียงหวาน การร้องเพลงสองชั้นและเพลงราชนิเกลิงนั้น ผู้แสดงให้ความสำคัญที่การเอื้อนและลูกคอมาก ในการร้องเพลงสองชั้น ผู้แสดงร้องคำหนึ่ง ปี่พาทย์บรรเลงรับท่อนหนึ่ง เพื่อให้ผู้แสดงพักเสียงและคิดกลอน ส่วนการเจรจานั้น ผู้แสดงพูดลากเสียงหรือเน้นคำมากกว่าการพูดธรรมดา เพื่อให้ได้ยินชัดเจน อนึ่ง คำที่สะกดด้วย ผู้แสดงลิเกจะออกเสียงเป็น นับเป็นลักษณะของลิเกอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ลิเกนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆที่มีกษัตริย์เป็นตัวเอก แต่ผู้แสดงมักใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้องด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ ความไม่รู้ และความตั้งใจให้ตลกขบขัน
การแสดงลิเกใช้กระบวนรำและท่ารำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ รำเพลง รำใช้บทหรือรำตีบท และรำชุด
รำเพลง คือ การรำในเพลงที่มีกำหนด ท่ารำไว้ชัดเจน เช่น เพลงช้า - เพลงเร็ว เพลงเสมอ ผู้แสดงพยายามรำเพลงเหล่านี้ให้มีท่ารำและกระบวนรำใกล้เคียงกับแบบฉบับมาตรฐานให้มากที่สุด
รำใช้บทหรือรำตีบท คือ การรำทำท่าประกอบคำร้องและคำเจรจา เป็นท่าที่นำมาจากละครรำและเป็นท่าง่ายๆ มีประมาณ ๑๓ ท่า คือ ท่ารัก ท่าโศก ท่าโอด ท่าชี้ ท่าฟาดนิ้ว ท่ามา ท่าไป ท่าตาย ท่าคู่ครอง ท่าช่วยเหลือ ท่าเคือง ท่าโกรธ และท่าป้อง ซึ่งเป็นท่าให้สัญญาณปี่พาทย์หยุดบรรเลง
รำชุด คือ การรำที่ผู้แสดงลิเกลักจำมาจากท่ารำชุดต่างๆของกรมศิลปากร เช่น มโนห์ราบูชายัญ ซัดชาตรี และพลายชุมพล แต่ผู้แสดงจำได้ไม่หมด จึงแต่งเติมจนกลาย ไปจากเดิมมาก ท่ารำบางชุดเป็นท่ารำที่ลิเกคิดขึ้นเองมาแต่เดิม เช่น พม่ารำขวาน และขี่ม้ารำทวน จึงมีท่ารำต่างไปจากของกรมศิลปากรโดยสิ้นเชิงการรำของลิเกต่างกับละคร กล่าวคือ ละครรำเป็นท่า แต่ลิเกรำเป็นที ซึ่ง หมายความว่า การรำละครนั้น ผู้รำจะรำเต็มตั้งแต่ท่าเริ่มต้นจนจบกระบวนท่าโดยสมบูรณ์ แต่การรำลิเกนั้น ผู้แสดงจะรำเลียนแบบท่าของละคร แต่ไม่รำเต็มกระบวนรำมาตรฐาน เช่น ตัดทอนหรือลดท่ารำบางท่า รำให้เร็วขึ้น ลดความกรีดกราย ในขณะเดียวกันผู้แสดงลิเกตัวพระนิยมยกขาสูง และย่อเข่าต่ำกว่าท่าของละครรำ อีกทั้งนิยมเอียงลำตัว และเอนไหล่ให้ดูอ่อนช้อยกว่าละคร