ขั้นตอนการแสดง ลิเกไทย!!

ขั้นตอนการแสดง ลิเก

หัวข้อ


โหมโรง
เป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้น มาปกปักรักษาและอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้น ยังเป็นการ อุ่นโรง ให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อมเพราะใกล้จะถึง เวลาแสดง และเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชน ที่อยู่ทั้งใกล้และไกล ให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเก และใกล้เวลาลงโรงแล้ว จะได้ชักชวนกันมาชม
โหมโรงเป็นการบรรเลงปี่พาทย์ตามธรรมเนียมการแสดงละครของไทย เพลง ที่บรรเลงเรียกว่า โหมโรงเย็น ประกอบด้วย เพลงชั้นสูงหรือเพลงหน้าพาทย์ ๑๓ เพลง บรรเลงตามลำดับคือ สาธุการ ตระนิมิตร รักสามลา ต้นเข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ เชิดฉิ่ง เชิดกลอง ชำนาญ กราวใน และวา ถ้าโหมโรงมีเวลาน้อยก็ตัดเพลงลงเหลือ ๔ เพลงคือ สาธุการ ตระนิมิตร กราวใน และวา แต่ถ้ามีเวลามากก็บรรเลงเพลงเบ็ดเตล็ดแทรกต่อจากเพลงกราวใน แล้วจึงบรรเลงเพลงวาเป็นสัญญาณจบการโหมโรง

การโหมโรงเป็นสัญญาณที่แจ้งให้ผู้ชมทราบว่าใกล้จะถึงเวลาแสดงแล้ว


ออกแขก
เป็นการคำนับครู อวยพรผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำเรื่อง อวด ผู้แสดง ฝีมือการร้องรำ และความหรูหรา ของเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ผู้ชมสนใจ และเตรียมพร้อมที่จะชมต่อไป ออกแขกเป็น การเบิกโรงลิเกโดยเฉพาะ
การออกแขก มี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรง ออกแขกรำเบิกโรง และออกแขกอวดตัว
ออกแขกรดน้ำมนต์ โต้โผ คือ หัวหน้าคณะหรือผู้แสดงอาวุโสชาย แต่งกาย แบบแขกมลายูบ้าง ฮินดูบ้าง มีผู้ช่วยเป็นตัวตลกถือขันน้ำตามออกมา แขกร้องเพลงออกแขกชื่อว่า เพลงซัมเซ เลียนเสียงภาษามลายู จบแล้วกล่าวสวัสดีและทักทายกันเอง ออกมุขตลกต่างๆ เล่าเรื่องที่จะแสดงให้ผู้ชมทราบ จบลงด้วยแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การแสดง และเป็นการอวยพรผู้ชม การออกแขกรดน้ำมนต์ไม่ค่อยมีแสดงในปัจจุบัน
ออกแขกหลังโรง โต้โผหรือผู้แสดงชายที่แต่งตัวเสร็จแล้วช่วยกันร้องเพลงซัมเซอยู่หลังฉากหรือหลังโรง แล้วจึงต่อด้วยเพลงประจำคณะ ที่มีเนื้อเพลงอวดอ้าง คุณสมบัติต่างๆของคณะ จากนั้นเป็นการประกาศชื่อและอวดความสามารถของศิลปิน ที่มาร่วมแสดง ประกาศชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง ย่อที่จะแสดง แล้วลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม
ออกแขกรำเบิกโรง คล้ายออกแขก หลังโรง โดยมีการรำเบิกโรงแทรก ๑ ชุด ก่อนลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม รำเบิกโรงนี้มักแสดงโดยลูกหลานของผู้แสดง ที่มีอายุน้อยๆ เป็นการฝึกเด็กๆให้เจนเวที เป็นการรำชุดสั้นๆสำหรับรำเดี่ยว เช่น พม่ารำขวาน พลายชุมพล มโนห์ราบูชายัญ หรือชุดที่คิดขึ้นเอง เช่น ชุดแขกอินเดีย ในกรณีที่เป็นการแสดงเพื่อแก้บน รำเบิกโรงจะเป็น รำเพลงช้าเพลงเร็ว โดยผู้แสดงชาย - หญิง ๒ คู่ ตามธรรมเนียมของการรำแก้บนละคร ซึ่งเรียกว่า รำถวายมือ เมื่อจบรำเบิกโรงแล้ว ข้างหลังโรงจะร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม
ออกแขกอวดตัว คล้ายออกแขก รำเบิกโรง แต่เปลี่ยนจากรำเดี่ยวหรือรำถวาย มือมาเป็นการอวดตัวแสดงทั้งโรง ผู้แสดงทุกคนจะแต่งเครื่องลิเก นำโดยโต้โผหรือพระเอกอาวุโสร้องเพลงประจำคณะ ต่อด้วยการแนะนำผู้แสดงเป็นรายตัว จากนั้นผู้แสดง ออกมารำเดี่ยว หรือรำหมู่ หรือรำพร้อมกันทั้งหมด คนที่ไม่ได้รำก็ยืนรอ เมื่อรำเสร็จ แล้วก็ร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม แล้วทยอยกันกลับเข้าไป
การออกแขกเป็นการแสดงลิเกที่สืบทอดมาจากลิเกสวดแขก แม้จะเปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา ก็ยังพอเห็นองค์ประกอบเดิมอยู่บ้าง เช่น เพลงและการที่ผู้แสดง แต่งตัวเป็นแขก

การออกแขกรำเบิกโรง


การออกแขกที่ผู้แสดงแต่งตัวเป็นแขก

 

ละคร
เป็นการแสดงลิเกเรื่องราวที่โต้โผซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกำหนดขึ้นก่อน การแสดงเพียงเล็กน้อย แล้วเล่าเรื่องพร้อมทั้งแจกแจงบทบาทด้วยปากเปล่าให้ผู้แสดงแต่ละคนฟังที่หลังโรง ในขณะกำลังแต่งหน้า หรือแต่งตัวกันอยู่ โดยจะเริ่มต้นแสดง หลังจากจบออกแขกแล้ว โต้โผจะคอยกำกับอยู่ข้างเวทีจนกว่าเรื่องจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การ แสดงเชื่องช้า ตลกฝืด ตัวแสดงบาดเจ็บ โต้โผก็จะพลิกแพลงให้เรื่องดำเนินต่อไปได้อย่าง ราบรื่น ผู้แสดงทุกคนต้องรู้บท รู้หน้าที่ และด้นบทร้องบทเจรจาของตนให้เป็นไปตาม แนวเรื่องของโต้โผได้ตลอดเวลา

การแสดงลิเกการกุศลเรื่อง "พระมหาชนก" ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓


ลาโรง
เป็นธรรมเนียมการแสดงละครไทยที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ลาโรง ผู้แสดงกราบอำลาผู้ชม โต้โผกล่าวขอบคุณผู้ชม และเชิญชวนให้ติดตามชมการแสดงคณะของตนในโอกาสต่อไป
ลิเกเริ่มการแสดงเป็นละครด้วยฉากตัวพระเอก แต่ในระยะหลังๆนี้มักเปิดการแสดงด้วยฉากตัวโกง เพื่อให้การดำเนินเรื่องรวบรัด และฉากตัวโกงก็อึกทึกครึกโครม ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและติดตามชมการแสดง การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็นฉากสั้นๆติดต่อ กันไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งดึกยิ่งใกล้จะจบ การแสดงก็ยิ่งคึกคัก ตื่นเต้น โลดโผน ตลกโปกฮา จนถึงมีฉากตลกเป็นฉากใหญ่ให้ผู้ชม ครื้นเครง แล้วรีบรวบรัดจบเรื่อง ซึ่งบางครั้ง ก็ไม่จบบริบูรณ์ แต่ผู้ชมก็ไม่ติดใจสงสัย
การแสดงในฉากแรกๆ เป็นการเปิดตัวละครสำคัญในท้องเรื่อง ผู้แสดงจะส่งสัญญาณให้นักดนตรีบรรเลงเพลงสำหรับ รำออกจากหลังเวที เช่น เพลงเสมอหรือเพลงมะลิซ้อน เมื่อรำถวายมาถึงหน้าตั่งหรือเตียงที่วางอยู่กลางเวทีก็นั่งลง หรือทำท่าถวายมือยกเท้าจะขึ้นไปนั่ง แต่กลับยืนอยู่หน้าเตียง แล้วร้องเพลงแนะนำตัวเอง และตัวละครที่สวมบทบาท พร้อมทั้งร้องเพลงขอบคุณผู้ชมและออดอ้อนแม่ยก เพลงที่ร้องเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้นด้นเนื้อร้องเอาเอง จากนั้นเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมอีก ๑ เพลง แล้วจึงดำเนินเรื่องร้องรำและเจรจาด้วยการด้นตลอดไปจนจบฉาก เพลงที่ใช้ร้องด้นดำเนินเรื่องเรียกว่า เพลงลิเก ที่มีชื่อว่า เพลงรานิเกลิง หรือ ราชนิเกลิง เมื่อ ตัวแสดงหมดบทในการออกมาครั้งแรกแล้ว ก็ลาโรงด้วยการร้องเพลงแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า ตนคิดอะไรและจะเดินทางไปไหน จากนั้นปี่พาทย์ทำเพลงเสมอให้ผู้แสดงรำออกไป
การแสดงในฉากต่อๆ มา ผู้แสดงมักเดินกรายท่าออกมา ผู้แสดงบนเวทีหรือผู้บรรยายหลังโรงจะแจ้งสถานที่และสถานการณ์ ในท้องเรื่องให้ผู้ชมทราบ แล้วจึงดำเนินเรื่องไปจนจบฉากอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้แสดงหมดบทบาทของตนเองแล้ว ก็จะร้องเพลงด้วยเนื้อความสั้นๆ แล้วกลับออกไปด้วยเพลงเชิด ซึ่งใช้สำหรับการเดินทางที่รวดเร็ว
การแสดงในฉากตลกใหญ่ ซึ่งเป็นฉาก สำคัญที่ผู้ชมชื่นชอบนั้น ผู้แสดงจะเวียนกันออกมาแสดงมุขตลกต่างๆ โดยมีตัวตลกตามพระ คือผู้ติดตามพระเอก กับตัวโกงเป็นผู้แสดงสำคัญในฉากนี้ เนื้อหามักเป็น การที่ตัวตลกตามพระหามุขตลกมาลงโทษตัวโกง ทำให้คนดูสะใจ และพึงพอใจที่คนไม่ดีได้รับโทษตามหลักคำสอนของศาสนา ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
การแสดงในฉากจบ มักเป็นฉากที่ ตัวโกงพ่ายแพ้แก่พระเอก ผู้แสดงเกือบทั้งหมดออกมาไล่ล่ากัน ประฝีปากและฝีมือกัน โดยในตอนสุดท้ายพระเอกเป็นฝ่ายชนะ ส่วนตัวโกงพ่ายแพ้ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องหนีไปหรือยอมจำนนอยู่ ณ ที่นั้น การแสดงก็จบลงโดยไม่มีการตายบนเวที เพราะถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคล ผู้แสดงมักทำท่านิ่ง เพื่อแสดงให้ทราบว่าการแสดงจบลงแล้ว

ผู้แสดงทำท่าถวายมือยกเท้าอยู่หน้าตั่ง ก่อนที่จะร้องเพลงแนะนำตัวเองและตัวละครที่ตนสวมบทบาท