ส่วนประกอบในการแสดง

ส่วนประกอบในการแสดง

 

วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง ในอดีตมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา ในยุคหลังจากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยการเกิดรายการลิเกทางโทรทัศน์ขึ้นมาเช่น ลิเกรวมดาวของ คุณ วิญูญู จันทร์เจ้า โดยมี สมศักดิ์ ภักดี เป็นพระเอกลิเกคนแรกของประเทศไทยที่ได้ออกโทรทัศน์ และต่อมาก็เริ่มมีคณะลิเกเด็กเกิดขี้นมาตามลำดับเช่น คณะลิเกเด็กวัดสวนแก้ว คณะลิเก ศรราม-น้ำเพชร ฯลฯ
เพลง ดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมาก ๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรักด้วย
เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง และเรื่องที่แต่งขึ้นมาตามชีวิตจริงของคนหรืออาจดัดแปลงบทจากวรรณคดีต่างๆให้เข้ากับยุคสมัย
การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง บางครั้งก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ แต่ดัดแปลงเสีย ใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่ ตัวนางนุ่งจีบยกทอง สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ ที่แปลกกว่าการแสดงอื่น ๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
สถานที่แสดง ลานวัด ตลาด สนามกว้าง ๆ ในโทรทัศน์ ฯลฯ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว มีฉากเป็นภาพเมือง วัง หรือป่าเขาลำเนาไพร
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของลิเกมีลักษณะเฉพาะซึ่งต่างไปจากละครรำ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงชายมีแบบแผนที่ชัดเจนกว่าผู้แสดงหญิง เครื่องแต่งกายของลิเกแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ชุดลิเกทรงเครื่อง ชุดลิเกลูกบท และชุดลิเกเพชร
ชุดลิเกทรงเครื่อง เป็นรูปแบบการแต่งกายของลิเกแบบเดิมเมื่อเริ่มมีลิเกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเลียนแบบการแต่งกายของข้าราชสำนักในยุคนั้น และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อมาบ้างจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องแต่งกายลิเกที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดแคลน ชุดลิเกทรงเครื่องก็หมดไป คงเหลือให้เห็นเฉพาะในการแสดงสาธิตเท่านั้น
ชุดลิเกลูกบท เป็นชุดเครื่องแต่งกายลำลองของคนไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นิยมแต่งในการแสดงเพลงพื้นบ้าน เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างชุดลิเกทรงเครื่องขาดแคลน ผู้แสดงจึงหันมาแต่งกายแบบลำลองที่เรียกว่า ชุดลิเกลูกบท
ชุดลิเกเพชร เป็นชุดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยการนำเพชรซีกและแถบเพชรมาประดับเครื่องแต่งกายชุดลิเกลูกบท สวมเสื้อกั๊กทับเสื้อตัวเดิมให้ดูหรูหราขึ้น จากนั้นก็เพิ่มความวิจิตรขึ้นจนกลายเป็นเครื่องเพชรแทบทั้งชุด สำหรับชุดของผู้แสดงหญิงมีแบบหลากหลาย แต่ไม่ประดับเพชรมากเท่าชุดของผู้แสดงชาย
เวทีลิเกมี ๒ แบบ คือ เวทีลิเกแบบเดิม และเวทีลิเกลอยฟ้า
เวทีลิเกแบบเดิม เป็นเวทีติดดินหรือยกพื้นเล็กน้อย ทำด้วยไม้ มีหลังคาที่เป็นทรงหมาแหงน แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนคือ เวทีแสดง หลังเวทีซึ่งใช้สำหรับเตรียมตัวก่อนออกแสดงหรือพักผ่อน และเวทีดนตรี เวทีลิเกมีขนาดมาตรฐานคือ กว้าง ๖ เมตร ลึก ๖ - ๘ เมตร มีฉากผ้ากั้นกลางสูง ๓.๕ เมตร หน้าฉากเป็นเวทีแสดง หลังฉากเป็นหลังเวที ถัดจากเวทีแสดงไปทางขวามือของผู้แสดงเป็นเวทีดนตรีสูงเสมอกัน ขนาดกว้าง ๓ เมตร ลึก ๔ เมตร บนเวทีแสดงมีตั่งอเนกประสงค์ตั้งกลางประชิดกับฉาก
เวทีลิเกลอยฟ้า เป็นเวทีที่พัฒนาขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยขยายความกว้างของเวทีแสดงออกไปเป็น ๑๐ - ๑๒ เมตร ลึก ๔ - ๕ เมตร สูง ๑ เมตร เวทีดนตรีอยู่ตรงกลาง ระหว่างเวทีแสดงกับหลังเวที ยกสูงจากพื้นเวทีแสดง ๑.๕๐ - ๒.๐๐ เมตร ลึกประมาณ ๒.๕ เมตร มีฉากไม้อัดเขียนลายอยู่ด้านหลังวงดนตรี หลังเวทีกว้าง ๑๒ เมตร ลึก ๔ - ๕ เมตร ไม่มีหลังคา หน้าเวทีแสดงมีเสาแขวนป้ายผ้าบอกชื่อคณะลิเกยาวตลอดหน้ากว้างของเวที สองข้างเวทีมีหลืบไม้อัดสำหรับบังผู้แสดงเข้าออก ตรงกลางเวทีแสดงตั้งตั่งอเนกประสงค์
ฉากลิเกเป็นฉากผ้าใบเขียนเป็นภาพต่างๆด้วยสีที่ฉูดฉาด ฉากลิเกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ฉากชุดเดี่ยว ฉากชุดใหญ่ และฉากสามมิติ
ฉากชุดเดี่ยว คือ มีฉากผ้าใบ ๑ ชั้น เป็นฉากหลัง เขียนภาพท้องพระโรงขนาด ๓.๕ x ๕ เมตร และ/หรือผ้าใบ ๒ ผืน อยู่ทางด้านซ้าย - ขวาของเวที เขียนเป็นภาพประตูสมมติให้เป็นทางเข้า - ออกของผู้แสดง และมีระบายผ้าเขียนชื่อคณะลิเกอีก ๑ ผืน ฉากชุดเดี่ยวนี้เป็นฉากมาตรฐานของลิเกที่จัดแสดงเพียงคืนเดียว
ฉากชุดใหญ่ คือ ฉากผ้าใบเช่นเดียวกับฉากชุดเดี่ยว แต่ฉากหลังมีหลายผืน เขียนเป็นภาพแสดงสถานที่ต่างๆที่การแสดงลิเกมักใช้ดำเนินเรื่อง เช่น ฉากท้องพระโรงแทนเมือง ฉากป่า ฉากอุทยาน ฉากกระท่อม ฉากแต่ละผืนจะม้วนกับแกนไม้ไผ่แขวนซ้อนกันอยู่เหนือเวทีหลังตั่งอเนกประสงค์ โดยจะคลี่ออกมาใช้ หรือม้วนเก็บขึ้นไปเมื่อเปลี่ยนฉาก ฉากชุดใหญ่จะมีสีสัน ถ้าเจ้าภาพต้องการเป็นพิเศษ หรือมีการแสดงติดต่อกันหลายเดือน
ฉากสามมิติ คือ ฉากผ้าใบที่เขียนให้ดูคล้ายจริง เช่น ฉากป่าจะมีฉากหลังเขียนเป็นทิวทัศน์ของป่าจริงๆ และมีผ้าใบเขียนเป็นต้นไม้เถาวัลย์ ฯลฯ ตัดเจาะเฉพาะลำต้นและใบ แขวนห้อยสลับซับซ้อนกัน มีแสงสีสาดส่องเห็นฉากลึกเป็นสามมิติ ฉากสามมิติจะมีหลายฉากเพื่อให้เหมาะแก่การแสดงลิเกประเภทปิดวิก ซึ่งเก็บค่าเข้าชมการแสดง โดยแสดงเรื่องหนึ่งติดต่อกันหลายคืนจนจบ และต้องแสดงความงดงามสมจริงของฉากเพื่อให้ผู้ชมติดใจกลับมาชมอีก
ดนตรี
ดนตรีสำหรับการแสดงลิเก บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ ๒ แบบ คือ วงปี่พาทย์ไทย และวงปี่พาทย์มอญ เพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงในอัตราสองชั้นที่ใช้กับละครรำของไทย กับเพลงลูกทุ่งยอดนิยมที่ผู้แสดงลิเกนำมาร้องเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม
วงปี่พาทย์ไทย
วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ระนาดและฆ้องวงชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก และยังมีเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ปี่พาทย์นี้บางสมัยเรียกว่า "พิณพาทย์"
วงปี่พาทย์มี 8 แบบ คือ

1. วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด ดังนี้
ปี่ใน 1 เลา
ระนาดเอก 1 ราง
ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
กลองทัด 2 ลูก
ตะโพน 1 ลูก
ฉิ่ง 1 คู่
ในบางกรณีอาจใช้ฉาบ กรับ โหม่งด้วย

2. วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม
วงปี่พาทย์เครื่องคู่มีเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่ 1 คู่ คือ ปี่ในและปี่นอก ระนาด 1 คู่ คือ ระนาดเอกและระนาดทุ้ม
ฆ้องวง 1 คู่ คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก กลองทัด 1 คู่
ตะโพน 1 ลูก ฉิ่ง 1 คู่
ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่
โหม่ง 1 ใบ กลองสองหน้า 1 ลูก (บางทีใช้กลองแขก 1 คู่ แทน)
ในบางกรณีอาจใช้กรับด้วย

3. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่ง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด 4 ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า "เพิ่มหัวท้าย" วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และ
เครื่องใหญ่ ถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาจะใช้เครื่องดนตรีกำกับจังหวะของภาษานั้น ๆ ด้วย เช่น
ภาษาเขมร ใช้ โทน
ภาษาจีน ใช้ กลองจีน กลองต๊อก แต๋ว
ภาษาฝรั่ง ใช้ กลองมริกัน (อเมริกัน) หรือกลองแตร็ก (side drum, snare drum)
ภาษาพม่า ใช้ กลองยาว
ภาษามอญ ใช้ ตะโพน เปิงมาง

4. วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1 ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม (ดู วงบัวลอย ประกอบ) โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัด ออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"
วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพมาแต่โบราณก่อนวงปี่พาทย์มอญ สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ ก็เพราะใช้เพลงเรื่องนางหงส์ 2 ชั้น เป็นหลักสำคัญในการบรรเลง นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปใช้บรรเลงเพลงภาษาต่าง ๆ เรียกว่า "ออกภาษา" ด้วย
5. วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ
ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
5.1 วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
5.2 วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่อง
ห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก
5.3 วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม
ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
วงปี่พาทย์มอญนั้นที่จริงแล้วใช้บรรเลงในโอกาสต่าง ๆ ได้ทั้งงานมงคล เช่น งานฉลองพระแก้วมรกตในสมัยธนบุรี และงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่ต่อมานิยมบรรเลงในงานศพ เนื่องจากท่วงทำนองเพลงมอญมีลีลาโศกเศร้า โหยหวน ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของงาน จนบางท่านนึกว่าปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น